วันพุธที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2558

การจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ Child Center

การจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ Child Center

            การจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ คือ วิธีการสำคัญที่สามารถสร้างและพัฒนาผู้เรียน ให้เกิดคุณลักษณะต่างๆ ที่ต้องการในยุคโลกาภิวัตน์ เนื่องจากเป็นการจัดการเรียนการสอนที่ให้ความสำคัญกับผู้เรียน ส่งเสริมให้ผู้เรียนรู้จักเรียนรู้ด้วยตนเอง เรียนในเรื่องที่สอดคล้องกับความสามารถและความต้องการของตนเองและได้พัฒนาศักยภาพของตนเองอย่างเต็มที่ ซึ่งแนวคิด   การ จัดการศึกษานี้เป็นแนวคิดที่มีรากฐานจากปรัชญาการศึกษาและทฤษฎีการเรียนรู้ต่าง ๆ ที่ได้พัฒนามาอย่าง ต่อเนื่องยาวนาน และเป็นแนวทางที่ได้รับการพิสูจน์ว่าสามารถพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณลักษณะตามต้องการอย่างได้ผล (วัฒนาพร ระงับทุกข์. 2542)
การเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญนี้ ผู้เรียนจะได้รับการส่งเสริมให้ผู้เรียนมี   ความรับผิดชอบและมีส่วนร่วมต่อการเรียนรู้ของตนเอง ซึ่งแนวคิดแบบผู้เรียนเป็นสำคัญจะยึดการศึกษาแบบก้าวหน้าของผู้เรียนเป็นสำคัญ ผู้เรียนแต่ละคนมีคุณค่าสมควรได้รับการเชื่อถือไว้วางใจ แนวทางนี้จึงเป็นแนวทางที่จะ ผลักดันผู้เรียนไปสู่การบรรลุศักยภาพของตน โดยส่งเสริมความคิดของผู้เรียนและอำนวยความสะดวกให้เขาได้พัฒนาศักยภาพของตนเองอย่างเต็มที่ การจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางเป็นการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบใหม่ที่มีลักษณะแตกต่างจากการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบดั้งเดิมทั่วไป

 http://www.agri.kmitl.ac.th/km/knowledge/?p=126   ได้รวบรวมการจัดการเรียนการสอนโดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ  ไว้ดังนี้
                แต่เดิมแนวคิดในการจัดการเรียนการสอนเป็นการยึดผู้สอนเป็นศูนย์กลาง (Techer-centered) โดยผู้สอนเป็นผู้กำหนดเนื้อหาและวิธีการเรียนการสอนเอง ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นเพียงการบรรยายหน้าชั้นเรียนเท่านั้น ต่อมานักการศึกษาเชื่อว่าแนวคิดดังกล่าวไม่ได้เอื้อต่อเกิดการพัฒนาผู้เรียนอย่างแท้จริง เพราะไม่ใช่วิธีการที่ตอบสนองต่อความต้องการหรือลักษณะของผู้เรียน การศึกษาควรให้ความสำคัญกับ  การเรียน  มากกว่า  การสอน
แนวคิดของการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ (Learner-centered, Student-centred หรือ Child-centered) จึงเป็นการปฏิรูปการศึกษาที่เปลี่ยนมายึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง โดยมีหลักการว่ากระบวนการจัดการเรียนการสอนต้องเน้นให้ผู้เรียนสามารถแสวงหาความรู้ และพัฒนาความรู้ได้ตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพของตนเอง รวมทั้งสนับสนุนให้มีการฝึกและปฏิบัติในสภาพจริงของการทำงาน มีการเชื่อมโยงสิ่งที่เรียนกับสังคมและการประยุกต์ใช้ มีการจัดกิจกรรมและกระบวนการให้ผู้เรียนได้คิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ ประเมินและสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ โดยไม่เน้นไปที่การท่องจำเพียงเนื้อหา
สรุปลักษณะของการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
1.             Active Learning เป็นกิจกรรมที่ผู้เรียนเป็นผู้กระทำหรือปฏิบัติด้วยตนเองด้วยความกระตือรือร้น เช่น ได้คิด ค้นคว้า ทดลองรายงาน ทำโครงการ สัมภาษณ์ แก้ปัญหา ฯลฯ ได้ใช้ประสาทสัมผัสต่างๆ ทำให้เกิดการเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างแท้จริง ผู้สอนทำหน้าที่เตรียมการจัดบรรยากาศการเรียนรู้ จัดสื่อสิ่งเร้าเสริมแรงให้คำปรึกษาและสรุปสาระการเรียนรู้ร่วมกัน
2.             Construct เป็นกิจกรรมที่ผู้เรียนได้ค้นพบสาระสำคัญหรือองค์การความรู้ใหม่ด้วยตนเอง อันเกิดจากการได้ศึกษาค้นคว้าทดลอง แลกเปลี่ยนเรียนรู้และลงมือปฏิบัติจริง ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนสามารถนำสิ่งที่เรียนรู้ไปใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน รวมทั้งทำให้ผู้เรียนรักการอ่าน รักการศึกษาค้นคว้าเกิดทักษะในการแสวงหาความรู้ เห็นความสำคัญของการเรียนรู้ ซึ่งนำไปสู่การเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ (Learning Man) ที่พึงประสงค์
1.             Resource เป็นกิจกรรมที่ผู้เรียนได้เรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ที่หลากหลายทั้งบุคคลและเครื่องมือทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน ผู้เรียนได้สัมผัสและสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทั้งที่เป็นมนุษย์ (เช่น ชุมชน ครอบครัว องค์กรต่างๆ) ธรรมชาติและเทคโนโลยี ตามหลักการที่ว่า การเรียนรู้เกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลาและทุกสถานการณ์)
2.             Thinking เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมกระบวนการคิด ผู้เรียนได้ฝึกวิธีคิดในหลายลักษณะ เช่น คิดคล่อง คิดหลากหลาย คิดละเอียด คิดชัดเจน คิดถูก ทางคิดกว้าง คิดลึกซึ้ง คิดไกล คิดอย่างมีเหตุผล เป็นต้น การฝึกให้ผู้เรียนได้คิดอยู่เสมอในลักษณะต่างๆ จะทำให้ผู้เรียนเป็นคนคิดเป็น แก้ปัญหาเป็น คิดอย่างรอบคอบมีเหตุผล มีวิจารณญาณ ในการคิด มีความคิดสร้างสรรค์ มีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ที่จะเลือกรับและปฏิเสธข้อมูล ข่าวสารต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม ตลอดจนสามารถแสดงความคิดเห็นออกได้อย่างชัดเจนและมี เหตุผลอันเป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตประจำวัน
3.             Happiness เป็นกิจกรรมที่ผู้เรียนเรียนอย่างมีความสุข ซึ่งเป็นความสุขที่เกิดจาก 1) ผู้เรียนได้เรียนในสิ่งที่ตนชอบหรือสนใจ ทำให้เกิดแรงจูงใจในการใฝ่รู้ ท้าทาย อยากค้นคว้า อยากแสดงความสามารถและให้ใช้ศักยภาพของตนอย่างเต็มที่ 2) การมีปฏิสัมพันธ์ (Interaction) ระหว่างผู้เรียนกับผู้สอนและระหว่างผู้เรียนกับผู้เรียน มีลักษณะเป็นกัลยาณมิตร มีการช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน มีกิจกรรมร่วมด้วยช่วยกัน ทำให้ผู้เรียนรู้สึกมีความสุขและสนุกกับการเรียน
4.             Participation เป็นกิจกรรมที่เน้นการให้ผู้เรียนมีส่วนร่วม ตั้งแต่การวางแผนกำหนดงาน วางเป้าหมายร่วมกัน และมีโอกาสเลือกทำงานหรือศึกษาค้นคว้าในเรื่องที่ตรงกับความถนัดความสามารถ ความสนใจ ของตนเอง ทำให้ผู้เรียนเรียนด้วยความกระตือรือร้น มองเห็นคุณค่าของสิ่งที่เรียนและสามารถ ประยุกต์ความรู้นำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตจริง
5.             Individualization เป็นกิจกรรมที่ผู้สอนให้ความสำคัญแก่ผู้เรียนในความเป็นเอกัตบุคคล ผู้สอนต้องยอมรับในความสามารถ ความคิดเห็น ความแตกต่างระหว่างบุคคลของผู้เรียน มุ่งให้ผู้เรียนได้พัฒนาตนเองให้เต็มศักยภาพมากกว่าเปรียบเทียบแข่งขันระหว่างกันโดยมีความเชื่อมั่นผู้เรียนทุกคนมีความสามารถในการเรียนรู้ได้ และมีวิธีการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน
6.             Good Habit เป็นกิจกรรมที่ผู้เรียนได้พัฒนาคุณลักษณะนิสัยที่ดีงาม เช่น ความรับผิดชอบ ความเมตตา กรุณา ความมีน้ำใจ ความขยัน ความมีระเบียบวินัย ความเสียสละ ฯลฯ และ ลักษณะนิสัยในการทำงานอย่างเป็นกระบวนการการทำงานร่วมกับผู้อื่น การยอมรับผู้อื่น และ การเห็นคุณค่าของงาน เป็นต้น
7.             Self Evaluation เป็นกิจกรรมที่เน้นการประเมินตนเอง เดิมผู้สอนเป็นผู้ประเมินฝ่ายเดียว แต่การเปิดโอกาสให้ผู้เรียนประเมินตนเองอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง จะช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจตนเองได้ชัดเจนขึ้น รุ้จุดเด่นจุดด้อยและพร้อมที่จะปรับปรุงหรือพัฒนาตนเองให้เหมาะสมยิ่งขึ้น การประเมินในส่วนนี้เป็นการประเมินตามสภาพจริงและอาจใช้แฟ้มสะสมผลงานช่วย
บทบาทของครูผู้สอน
บทบาทของครูผู้สอนในการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญจะไม่เป็นผู้ชี้นำหรือผู้ออกคำสั่งแต่จะเปลี่ยนเป็นผู้กระตุ้น ผู้อำนวยความสะดวกและให้คำแนะนำช่วยเหลือเมื่อจำเป็น ติดตามตรวจสอบ รวมทั้งให้การสนับสนุนด้านอุปกรณ์การเรียนรู้ เช่น แหล่งข้อมูล เทคโนโลยี คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ที่เป็นสื่อการเรียนรู้รูปแบบต่างๆ เว็บไซด์ อีเมล์ ฯลฯ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบลักษณะการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนของครูสมัยใหม่กับครูสมัยเก่าก็จะเห็นความแตกต่าง
ครูสมัยใหม่
ครูสมัยเก่า
1.  สอนนักเรียนโดยวิธีบูรณาการเนื้อหาวิชา
1.  สอนแยกเนื้อหาวิชา
2.  แสดงบทบาทในฐานะผู้แนะนำ (Guide) ประสบการณ์ทางการศึกษา
2.  มีบทบาทในฐานะตัวแทนของเนื้อหาวิชา(Knowledge)
3.  กระตือรือร้นในบทบาท ความรู้สึกของนักเรียน
3.  ละเลยเฉยเมยต่อบทบาทนักเรียน
4.  ให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการวางแผนของหลักสูตร
4.  นักเรียนไม่มีส่วนร่วมแม้แต่จะพูดเกี่ยวกับหลักสูตร
5.  ใช้เทคนิคการค้นพบด้วยตนเองของนักเรียนเป็นกิจกรรมหลัก
5.  ใช้เทคนิคการเรียนโดยใช้การจำเป็นหลัก
6.  เสริมแรงหรือให้รางวัลมากกว่าการลงโทษ โดยใช้แรงจูงใจภายใน
6.  มุ่งเน้นการให้รางวัลภายนอก เช่น เกรด แรงจูงใจภายนอก
7.  ไม่เคร่งครัดกับมาตราฐานทางวิชาการจนเกินไป
7.  เคร่งครัดกับมาตราฐานทางวิชาการมาก
8.  มีการทดสอบเล็กน้อย
8.  มีการทดสอบสม่ำเสมอเป็นระยะๆ
9.  มุ่งเน้นการทำงานแบบร่วมใจ
9.  มุ่งเน้นการแข่งขัน
10.  สอนโดยไม่ยึดติดกับห้องเรียน
10.  สอนในขอบเขตของห้องเรียน
11.  มุ่งสร้างสรรค์ ประสบการณ์ใหม่ให้นักเรียน
11.  เน้นย้ำประสบการณ์ใหม่เพียงเล็กน้อย
12.  มุ่งเน้นความรู้ทางวิชาการและทักษะด้านจิตพิสัย
เท่าเทียมกัน
12.  มุ่งเน้นความรู้ทางวิชาการเป็นสำคัญ ละเลยความรู้สึกหรือทักษะทางด้านจิตพิสัย
13.  มุ่งเน้นการประเมินกระบวนการเป็นสำคัญ
13.  ประเมินกระบวนการเล็กน้อย
ตัวอย่างของรูปแบบหรือเทคนิคการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
  • การเรียนที่ใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem-based Learning)
  • การเรียนที่ใช้การวิจัยเป็นฐาน (Research–based Learning)
  • การเรียนแบบโครงงาน (Project-based Learning)
  • การจัดการเรียนการสอนแบบสืบค้น (Inquiry Instruction)
  • การเรียนแบบร่วมมือ (Cooperative/Collaborative Learning)
  • การใช้บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน (CAI) หรือสื่อเพื่อการเรียนรู้ด้วยตนเอง
  • การใช้เครื่องมือทางปัญญา (Cognitive Tools)
  • เทคนิคการใช้ Concept Mapping
  • เทคนิคการใช้ Learning Contracts
  • เทคนิคบทบาทสมมติ (Role Playing Model)
  • เทคนิคหมวก 6 ใบ
  • เทคนิคการเรียนการสอนแบบจิ๊กซอร์(Jigsaw)  ฯลฯ
สมใจ ฤทธิสนธี  (http://www.src.ac.th/web2/jurnal/issu2/center.htm  ) ได้กล่าวถึงการจัดการเรียนรู้โดยเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางไว้ดังนี้
                การสอนแบบเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง  เป็นแนวความคิดที่มุ่งให้ผู้เรียนได้มีบทบาท  มีส่วนร่วมในการเรียนการสอนมากขึ้น   ผู้เรียนจะเกิดการเรียนรู้โดยการลงมือกระทำ  ปฏิบัติ  แก้ปัญหา  หรือ  ศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองโดยยึดความสนใจ   ความสามารถของผู้เรียนเป็นสำคัญ และสามารถที่จะพัฒนาศักยภาพขอตนเอง    และนำความรู้ไปใช้เป็นประโยชน์ต่อตนเองได้  ตลอดจนเน้น  กระบวนการการเรียนรู้ร่วมกันของผู้เรียน ผู้เรียนจะมีความรู้ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ด้วยตนเอง จะเรียนอย่างมีความสุขมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมต่างๆ มีจิตใจที่สดชื่นแจ่มใสในระหว่างดำเนินกิจกรรม
 ก. จุดมุ่งหมายของการสอนโดยเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง
                    ๑. เพื่อให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียนการสอนมากขึ้น
                    ๒. เพื่อให้ผู้เรียนได้พัฒนาความสามารถต่างๆ  ตามความสามารถของตน
                    ๓. เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากการลงมือกระทำ ปฏิบัติหรือศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง
                    ๔. เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนตามความสนใจความสามารถของตนเอง
                    ๕. เพื่อให้ผู้เรียนได้เชื่อมโยงการเรียนรู้กับสภาพชีวิตประจำวัน
                     ๖. เพื่อให้ผู้เรียนได้แลกเปลี่ยนความคิด ความรู้กับเพื่อนๆ
ข. ลักษณะของการจัดการเรียนการสอนโดยยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง
                    ๑. จัดตามความสนใจ ความสามารถ ตั้งแต่การร่วมกำหนดวัตถุประสงค์ เนื้อหา กิจกรรมการเรียนการสอน  สื่อ และการประเมินผล
                    ๒. จัดให้ผู้เรียนได้ลงมือทำกิจกรรม ปฏิบัติ แก้ปัญหาหรือศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง จากสื่อเพื่อน และครู
                    ๓. จัดให้ผู้เรียนได้มีโอกาสฝึกทักษะต่างๆ เช่น ทักษะทางการคิดวิเคราะห์ การสังเกต การทดลองค้นคว้า การจดบันทึกตลอดจนการสังเคราะห์การสรุปข้อความรู้ต่างๆของตนเอง
                    ๔. จัดให้ผู้เรียนได้มีโอกาสนำความรู้ที่ได้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในชีวิตประจำวัน
                    ๕. จัดให้ผู้เรียนได้มีโอกาสสร้างความสัมพันธ์ แลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดกับเพื่อนๆจากการทำกิจกรรมต่าง ๆ
ค. ประเภทของการเรียนการสอนที่ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง
      แบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ คือ  การสอนแบบเน้นกิจกรรมการเรียนการสอนเป็นหลัก และการสอนแบบเน้นสื่อ
 ง. การวัดผลและประเมินผล
          การวัดผลและประเมินผลตามแนวการสอนที่ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง   จะนิยมใช้การวัดและประเมินผลตามสภาพแท้จริงในห้องเรียน (Authentic Assessment) ทั้งนี้เนื่องจากการวัดและประเมินผลตามสภาพที่แท้จริงในห้องเรียน จะเป็นการวัดและประเมินผลที่บอกถึงระดับความรู้ ความสามารถที่เกิดขึ้นในตัวผู้เรียน อันเนื่องมาจากการให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติจนกระทั่งได้ชิ้นงานในรูปแบบหนึ่งออกมาในตอนสุดท้าย   เทคนิคที่นิยมใช้ตามแนว  A.A  ได้แก่การใช้ Portfolio  การใช้แบบทดสอบความสามารถจริง (Authentic Test) การสังเกต การบันทึกพฤติกรรม การสัมภาษณ์เป็นต้น
  จ. บทบาทของครูตามแนวการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง
  บทบาทของครูตามแนวการสอนนี้ จะเปลี่ยนไปจากเดิม โดยมีบทบาทใหม่ ดังนี้
          ๑. เป็นผู้จัดการ (Manager) เป็นผู้กำหนดบทบาทให้ผู้เรียนทุกคนได้มีส่วนเข้าร่วมทำกิจกรรมต่างๆ ที่เหมาะสมกับความสามารถ ความสนใจของผู้เรียน
          ๒. เป็นผู้ช่วยเหลือและแหล่งความรู้ (Helper and resource) เป็นผู้ให้ความช่วยเหลือทางด้านวิชาการในยามที่ผู้เรียนต้องการ อันจะช่วยให้การเรียนรู้ของผู้เรียนมีประสิทธิภาพ
          ๓. เป็นผู้สนับสนุนกระบวนการเรียนการสอน ให้การสนับสนุนช่วยเหลือด้านสื่ออุปกรณ์ คำแนะนำ เพื่อให้ผู้เรียนสามารถดำเนินกิจกรรมไปได้อย่างราบรื่น
          ๔. เป็นผู้ติดตามตรวจสอบ   คอยตรวจสอบกระบวนการทำงาน ผลงานของผู้เรียน  รวมทั้งการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในตัวผู้เรียนเพื่อนำผลมาปรับปรุงการเรียนการสอนต่อไป
  ฉ. บทบาทของผู้เรียนตามแนวการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง
          ๑. เป็นผู้ลงมือกระทำ ผู้เรียนจะต้องดำเนินกิจกรรมต่าง ๆที่ครูจัดเตรียมให้ด้วยตนเอง เพื่อผลในการเรียนรู้
          ๒. เป็นผู้มีส่วนร่วม ผู้เรียนจะต้องเป็นผู้มีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนทุกขั้นตอน
          ๓. เป็นสมาชิกของกลุ่มผู้เรียน  ผู้เรียนจะต้องเป็นผู้แลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์   ความคิดเห็น สร้างความสัมพันธ์กับผู้เรียนอื่น ๆ  ในกลุ่มเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ
          ๔. เป็นผู้ประเมิน ผู้เรียนจะต้องคอยตรวจสอบความก้าวหน้าในการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ  ด้วยการประเมินผลด้วยตัวเอง   และผู้เรียนในกลุ่มเป็นต้น

สรุป การจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
แนวคิดของการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ (Learner-centered, Student-centered หรือ Child-centered)  มีหลักการว่ากระบวนการจัดการเรียนการสอนต้องเน้นให้ผู้เรียนสามารถแสวงหาความรู้ และพัฒนาความรู้ได้ตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพของตนเอง รวมทั้งสนับสนุนให้มีการฝึกและปฏิบัติในสภาพจริงของการทำงาน มีการเชื่อมโยงสิ่งที่เรียนกับสังคมและการประยุกต์ใช้ มีการจัดกิจกรรมและกระบวนการให้ผู้เรียนได้คิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ ประเมินและสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ โดยไม่เน้นไปที่การท่องจำเพียงเนื้อหา โดยครูจะมีบทบาทเป็นผู้กระตุ้น  ผู้อำนวยความสะดวกและให้คำแนะนำช่วยเหลือเมื่อจำเป็น ติดตามตรวจสอบ รวมทั้งให้การสนับสนุนด้านอุปกรณ์การเรียนรู้ เช่น แหล่งข้อมูล เทคโนโลยี คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ที่เป็นสื่อการเรียนรู้รูปแบบต่างๆ เว็บไซด์ อีเมล์  โดยลักษณะในการจัดการเรียนการสอนจะเป็นในแนว จัดตามความสนใจและความสามารถของนักเรียน มีการลงมีทำกิจกรรมและปฎิบัติ ได้มีโอกาสศึกษาค้นคว้า

ที่มา

 http://www.agri.kmitl.ac.th/km/knowledge/?p=126 .    การจัดการเรียนการสอนโดยเน้นผุ้เรียนเป็นสำคัญ.  เข้าถึงเมื่อวันที่  3 กันยายน 2558.

สมใจ ฤทธิสนธี  .[Online ]  http://www.src.ac.th/web2/jurnal/issu2/center.htm.  การจัดการเรียนรู้โดยเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางเข้าถึงเมื่อวันที่  3 กันยายน 2558.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น