วันพุธที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2558

การประเมินผลการเรียนรู้

การประเมินผลการเรียนรู้
มลิวัลย์  ผิวคราม  ( http://www.ipecp.ac.th/ipecp/cgi-binn/webpili/unit1/level1-4.html )  ได้รวบรวมเนื้อหา เกี่ยวกับการวัดผลและประเมินผล ไว้ดังนี้
การวัดผล  การประเมินผล  และการสอบ  เป็นคำที่เกี่ยวข้องกัน  และมักเรียกรวมกันว่า การสอบวัดผล  การวัดผลประเมินผล   ซึ่งเป็นคำรวมกันคำละ  2 คำ  และมีคำซ้ำกันหนึ่งคำ  รวมมีคำที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 3 คำ   คือ คำว่า  การวัดผล (Measurement)   คำว่าการสอบ (Testing)  และคำว่า การประเมินผล (Evaluation) เป็นคำที่มีความหมายแตกต่างกัน  แต่มักจะใช้ควบคู่กันเสมอ  เพื่อให้มีความเข้าใจได้ชัดเจนและถูกต้อง ของคำดังกล่าว  ได้มีผู้ให้ความหมายไว้ดังนี้
            ความหมายของคำว่า  การวัดผล
การวัดผลเป็นการกำหนดจำนวนหรือปริมาณให้แก่สิ่งที่วัดโดยมีเงื่อนไขหรือกฎเกณฑ์  การวัดผลแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
           1. การวัดทางกายภาพศาสตร์ (Physical  Science) เป็นการวัดเพื่อหาจำนวน  ปริมาณของสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นรูปธรรม  มีตัวตนแน่นอน  เช่น  ความยาว  น้ำหนัก  พื้นที่  ปริมาตร  ขนาด  ส่วนใหญ่เป็นการวัดวัตถุ  สิ่งของ  การวัดทางด้านนี้มักเป็นรูปธรรม  มีเครื่องมือวัดที่ให้ผลเชื่อถือได้  มีหน่วยการวัดแน่นอน  เช่น  เป็นเมตร  เป็นกรัม  ซึ่งทำให้การวัดทางกายภาพศาสตร์ได้ผลการวัดที่ถูกต้องแม่นยำ
           2. การวัดทางสังคมศาสตร์ (Social  Science) เป็นการวัดเพื่อหาจำนวนหรือคุณภาพของสิ่งที่เป็นนามธรรม  ไม่มีตัวตนแน่นอน  ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมของสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย  เครื่องมือที่ใช้วัดมักขาดคุณภาพให้ผลเชื่อถือได้ต่ำ  เช่น  การวัดความรู้  การวัดการปรับตัวของ  นักเรียน  การวัดผลการศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของการวัดทางด้านสังคมศาสตร์  ซึ่งในปัจจุบันนี้     การวัดทางด้านนี้พยายามปรับปรุงวิธีการโดยอาศัยวิธีการทางวิทยาศาสตร์เป็นรากฐานเพื่อให้ได้         ผลการวัดที่แน่นอน  ถูกต้องมากขึ้น
การวัดทั้งสองประเภท  เป็นการใช้ความพยายามที่จะกำหนดตัวเลขหรือสัญลักษณ์เพื่อใช้แทนปริมาณหรือคุณภาพของพฤติกรรมความสามารถของบุคคล  ผลการวัดที่ได้แต่ละครั้งจะแตกต่างกัน  มิได้มีลักษณะหรือคุณภาพเหมือนกันทุกครั้งไป  ทั้งนี้ย่อมขึ้นกับวัตถุประสงค์ของการวัด  เครื่องมือที่ใช้วัด  รวมทั้งวิธีการวัดที่จะทำให้ผลการวัดมีลักษณะอย่างไรละเอียดหรือหยาบเพียงใด  ซึ่งการวัดสามารถจำแนกระดับของความละเอียดได้ 4 ระดับ ดังนี้ 

          ระดับที่ 1  มาตรานามบัญญัติ (Nominal  Scale) เป็นการกำหนดชื่อให้กับเรื่องราวหรือสิ่งของต่าง ๆ เช่น  เพศชาย  เพศหญิง  ชั้นประถมศึกษา  อาชีพรับราชการ  ชาวนา  ชาวสวน  เป็นต้น มาตราวัดระดับนี้เป็นเพียงแต่การจัดหมวดหมู่สิ่งที่มีลักษณะเดียวกันเข้าเป็นประเภทเดียวกันเท่านั้น  ซึ่งนับว่าเป็นมาตราการวัดที่หยาบที่สุด
          ระดับที่ 2  มาตราการจัดอันดับ (Ordinal  Scale) เป็นการจัดเรียงลำดับของสิ่งที่อยู่ ในหมวดหรือสกุลเดียวกัน  ให้ลดหลั่นตามลำดับปริมาณหรือคุณภาพ  เช่น  เก่ง  ค่อนข้างเก่ง  กลาง  หรือการจัดอันดับที่ 1  2  3  เป็นต้น  ซึ่งการจัดอันดับในมาตรานี้เป็นเพียงการบอกปริมาณและคุณภาพที่มีมากน้อยต่างกันเท่านั้น  แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าแต่ละอันดับนั้นแตกต่างกันมากน้อยเพียงไร  และแต่ละชั้นนั้นห่างเท่ากันหรือไม่ 
           ระดับที่ 3 มาตราอันตรภาค (Interval  Scale) การกำหนดตัวเลขการวัดในระดับนี้  เป็นการแบ่งของที่อยู่ในลักษณะเดียวกันออกเป็นประเภทหรือช่วงที่เท่า ๆ กัน  เช่น 1 ชั่วโมงมี 30  นาที    1 วันมี 24 ชั่วโมง  ซึ่งการแบ่งเป็นช่วงเท่า ๆ กัน  ในลักษณะนี้ทำให้ข้อมูลที่ได้จากการวัดมีความหมายยิ่งขึ้น  เพราะสามารถนำผลที่ได้ไปเปรียบเทียบ  บวก  ลบ  กันได้  แต่มาตราการวัดระดับนี้ยังมีจุดอ่อนอยู่ตรงที่  ศูนย์ที่ได้จากการวัดในมาตรานี้ยังไม่ใช่ศูนย์แท้ (Absolute  Zero) แต่เป็นเพียงศูนย์สมมุติเท่านั้น  เพราะศูนย์ในมาตราการวัดชนิดนี้มิได้หมายความว่าไม่มีอะไรเลย  แต่เป็นการสมมุติว่าไม่มี  แท้จริงยังมีลักษณะที่วัดนั้นอยู่บ้าง  
           ระดับที่ 4 มาตราอัตราส่วน  (Ratio  Scale) เป็นมาตราการวัดที่สมบูรณ์  คุณสมบัติของการกำหนดตัวเลขในมาตราการวัดนี้คือ  มีศูนย์แท้และมีช่วงที่เท่ากัน  เรียงขึ้นลงตามลำดับสม่ำเสมอ  เช่น  การวัดความยาวของสิ่งของ  ความยาวเท่ากับศูนย์หมายความว่าไม่มีความยาว  น้ำหนักศูนย์แสดงว่าไม่มีน้ำหนักสิ่งของที่มี  น้ำหนัก 10 กิโลกรัม  แสดงว่าน้ำหนักเป็น  2 เท่าของสิ่งของ กิโลกรัม  เป็นต้น    
   ความหมายของคำว่า  การประเมินผล   
            การประเมินผลเป็นกระบวนการที่ทำต่อเนื่องจากการวัดผลแล้ววินิจฉัย  ตัดสิน  ลงสรุป  เพื่อพิจารณาความเหมาะสมหรือหาคุณค่าของคุณลักษณะและพฤติกรรมอย่างมีกฎเกณฑ์และมีคุณธรรม  ซึ่งในการประเมินผลจะต้องมีองค์ประกอบหลัก 3 ประการ  คือ
           1. การวัดผล (Measurement) ทำให้ทราบสภาพความจริงของสิ่งที่จะประเมินว่ามีปริมาณเท่าไร  มีคุณสมบัติอย่างไร  เพื่อใช้เป็นข้อมูลสำหรับนำไปเปรียบเทียบกับเกณฑ์
            2. เกณฑ์การพิจารณา (Criteria) ในการที่จะตัดสินว่าสิ่งใดดี เลว ใช้ได้ หรือใช้ไม่ได้นั้น  จะต้องมีหลักเกณฑ์หรือมีบรรทัดฐานที่ต้องการ  โดยนำผลการวัดนั้นมาเปรียบเทียบกับเกณฑ์ที่กำหนดไว้  หรือมาตรฐานที่ต้องการ  เกณฑ์การพิจารณาในการประเมินผลการศึกษานั้นก็คือจุดมุ่งหมายของการศึกษานั่นเอง
            3. การตัดสินใจ (Decision) เป็นการชี้ขาดหรือสรุปผลที่ได้จากการวัดเทียบกับเกณฑ์การเปรียบเทียบระหว่างผลการปฏิบัติ  ซึ่งได้จากการวัดกับเกณฑ์ที่กำหนดไว้ว่าสูงต่ำกว่ากันขนาดไหน  ทั้งนี้การตัดสินใจที่ดีต้องอาศัยการพิจารณาอย่างถี่ถ้วนทุกแง่มุม  และกระทำอย่างยุติธรรมโดยอาศัยสภาพและความเหมาะสมต่าง ๆ ประกอบ  หรือต้องมีคุณธรรม

            จากความหมายของการวัดผล  และการประเมินผล  แสดงว่ากระบวนการทั้งสองต่อเนื่องกันไป  กล่าวคือ  เมื่อมีการวัดผลแล้วจะได้รายละเอียดหลายด้าน  แล้วนำผลทั้งหลาย       มาพิจารณา  หรือที่เรียกว่าประเมินผล  ผลการประเมินจะถูกต้องเหมาะสมเพียงใดย่อมขึ้นกับ       ผลของการวัดเป็นประการสำคัญ  ทั้งการวัดผล  และการประเมินผล  จึงสัมพันธ์เกี่ยวโยงกัน      แต่อย่างไรก็ตามการวัดผล  และการประเมินผลยังมีลักษณะรายละเอียดที่แตกต่างกัน  ซึ่งพอจะเปรียบเทียบได้ดังนี้ 
การวัดผล
การประเมินผล
1.             เป็นการกำหนดจำนวน  ปริมาณ  หรือ   รายละเอียด
2.             กระทำอย่างละเอียดทีละด้านทีละอย่าง
3.             ใช้เครื่องมือเป็นหลัก
4.             ผลที่ได้เป็นข้อมูลรายละเอียด
5.             อาศัยวิธีการทางวิทยาศาสตร์
1.             เป็นการกำหนดระดับของคุณค่า หรือตัดสินลงสรุปผล
2.             สรุปผลเป็นข้อชี้ขาด
3.             ใช้ผลการวัดเป็นหลัก
4.             ผลที่ได้เป็นการตัดสินใจ
5.             อาศัยการใช้ดุลพินิจ

ประโยชน์ของการวัดผลและการประเมินผลการศึกษา
  การวัดผลและการประเมินผลทางการศึกษามีประโยชน์ต่อผู้เรียน  ครูผู้สอน  ผู้ปกครอง  การแนะแนว  การบริหารและการวิจัยการศึกษา  ดังรายละเอียดต่อไปนี้

     
       1.  ประโยชน์ต่อตัวนักเรียน
1.             ทำให้ผู้เรียนทราบจุดมุ่งหมายของการจัดการเรียนการสอนที่ชัดเจน
2.             ทำให้เกิดแรงจูงใจในการเรียนเพิ่มขึ้น เพื่อให้ได้ผลการวัดและประเมินผลดีขึ้น
3.             ช่วยสร้างนิสัยในการใฝ่รู้ให้เกิดขึ้นกับผู้เรียน  เมื่อไม่สามารถตอบคำถามหรือตอบแบบทดสอบได้ผู้เรียนจะไปศึกษาเพิ่มเติมก่อให้เกิดนิสัยอยากรู้อยากเห็นมากขึ้น
4.             ทำให้ทราบถึงสถานภาพทางการเรียนของตนเองว่าเด่นด้อยในเรื่องใดควรได้รับการปรับปรุงอย่างไร

      2.  ประโยชน์ต่อครูผู้สอน
      1.  ทำให้ทราบข้อมูลเบื้องต้นในด้านต่าง ๆ ของนักเรียน
      2.  ทำให้ทราบถึงผลการสอนของครูว่ามีประสิทธิผลมากน้อยเพียงไร
      3.  ทำให้ครูได้ข้อมูลในการปรับปรุงการจัดกิจกรรมการสอนหรือการกำหนดจุดมุ่งหมายในการสอนที่เหมาะสมต่อไป
      4.  ช่วยให้ครูกำหนดเทคนิควิธีการสอนที่เหมาะสมให้แก่นักเรียนเป็นรายบุคคลกรณีที่ประสงค์จะสอนเพิ่มเติมหรือสอนซ่อมเสริม
      3.  ประโยชน์ต่อผู้ปกครองนักเรียน
           ผู้ปกครองทราบถึงพัฒนาการหรือความก้าวหน้าในการเรียนของนักเรียนเป็นระยะๆ ดังนั้นจึงต้องให้ผู้ปกครองนักเรียนทราบด้วย  เพื่อที่ผู้ปกครองจะได้ใช้เป็นพื้นฐานการตัดสินใจเกี่ยวกับการศึกษาต่อไป
     4.  ประโยชน์ต่องานแนะแนว
          ข้อมูลที่ได้จากการวัดผลและประเมินผลการศึกษา เช่นการวัดเจตคติ  การวัดความสนใจ  การวัดบุคลิกภาพ  การวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน การวัดความถนัด  เป็นข้อมูลของนักเรียนที่มีประโยชน์ต่องานแนะแนวในการให้คำแนะนำหรือข้อชี้แนะเกี่ยวกับการเลือกอาชีพ  การศึกษาต่อ  และปัญหาส่วนตัวของนักเรียนที่ประสบอยู่
     5.  ประโยชน์ต่อการบริหารการศึกษา
          การประเมินผลโดยภาพรวมของสถานศึกษานั้น ๆ จะเป็นข้อมูลบอกถึงประสิทธิภาพ   ในการจัดและการบริหารการศึกษา  และการวัดผลและการประเมินผลเป็นเครื่องมือในการดำเนินกิจกรรมหลาย ๆ ด้าน เช่นการคัดเลือกบุคลากรในตำแหน่งหน้าที่ต่าง ๆ การสอบคัดเลือกการจัดแยกประเภทนักเรียนนักศึกษา และการประเมินผลการปฏิบัติงาน  เป็นต้น
      6.  ประโยชน์ในการวิจัยการศึกษา
          ข้อมูลทางการศึกษาที่ได้จากการวัดผลและประเมินผลการศึกษาด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านตัวนักเรียน  ตัวครู  ผู้บริหาร  บุคลากรในสถานศึกษา  งบประมาณ  ระบบการบริหาร   การจัดการ  และอุปกรณ์เครื่องมือต่าง ๆ นั้น จะเป็นข้อมูลเบื้องต้นที่สามารถนำไปใช้ในการศึกษาและวิเคราะห์เพื่อศึกษาวิจัยในประเด็นข้อสงสัยต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี  เพื่อให้ได้ผลการศึกษาวิจัยที่มีคุณภาพ  สามารถนำไปใช้พัฒนาระบบการศึกษาได้อย่างแท้จริง
สรุปสาระสำคัญ
  1.  กระบวนการเรียนการสอนมีองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องกัน 4 ประการ  คือ  จุดมุ่งหมายของการสอน  พฤติกรรมพื้นฐานของผู้เรียน  การเรียนการสอน  และการวัดผลและประเมินผล
           2.  การวัดผลและประเมินผลมีบทบาทในกระบวนการเรียนการสอน 3 ระยะด้วยกัน  คือ ก่อนการเรียนการสอน  ระหว่างการเรียนการสอน  และหลังจากสิ้นสุดการเรียนการสอนแล้ว
           3.  การจัดการศึกษาเป็นกระบวนการที่มีระบบแบบแผนมีองค์ประกอบที่ สำคัญ 5 ประการ  คือ ปรัชญาหรือทิศทางในการจัดการศึกษา  หลักสูตรกำหนดเป้าหมายที่ต้องการว่าผู้เรียนมีคุณภาพอย่างไร   การสอนที่ชักนำให้บรรลุตามหลักสูตร  การวัดผลและประเมินผลเพื่อตรวจสอบคุณภาพผู้เรียน  และการวิจัยเพื่อค้นหาปัญหาพัฒนาไปสู่ความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นต่อไป
          4.  การวัดผลเป็นการกำหนดจำนวนหรือปริมาณให้แก่สิ่งที่วัด  โดยทั่วไปแบ่งออกเป็น 2 ประเภท  คือ การวัดผลทางกายภาพศาสตร์  และการวัดผลทางสังคมศาสตร์  ซึ่งผลการวัดสามารถจำแนกระดับของความละเอียดได้ 4 ระดับ  คือ ระดับนามบัญญัติ  ระดับจัดอันดับ  ระดับอันตรภาค  และระดับอัตราส่วน
           5.  การประเมินผล เป็นการสรุปผล  ซึ่งในการสรุปผลนั้นต้องมีองค์ประกอบ 3 ประการ  คือ  ผลของการวัด  เกณฑ์การพิจารณา  และการตัดสินใจ
           6.  การสอบเป็นการกำหนดจำนวนหรือปริมาณให้แก่สิ่งที่วัดโดยใช้ข้อสอบเป็นเครื่องมือหรือสิ่งเร้า  ซึ่งในการสอบจะมีองค์ประกอบ 4 ประการ  คือ  ผู้ถูกวัดคุณลักษณะ  ข้อสอบที่เป็นสิ่งเร้า  การดำเนินการสอบ  และผลการสอบแทนความสามารถของผู้ถูกวัด
          7.  การวัดและประเมินผลการศึกษามีข้อจำกัดที่สำคัญ 5 ประการ  คือ  เป็นการวัดทางอ้อม  วัดได้ไม่สมบูรณ์เป็นการวัดเชิงปริมาณ  ต้องสัมพันธ์กับสิ่งอื่น  และมีความคลาดเคลื่อนในการวัด
          8.  การวัดผลการศึกษามีจุดมุ่งหมายที่แตกต่างกันดังนี้  คือ เพื่อจัดตำแหน่ง  เพื่อประเมินพัฒนาการ  เพื่อวินิจฉัย   เพื่อพยากรณ์  และเพื่อประเมินผล
          9.  การวัดผลและประเมินผลการศึกษาเป็นกระบวนการที่มีประโยชน์หลายด้าน  ดังนี้คือ  ด้านการเรียนการสอน  ด้านการแนะแนว  ด้านการบริหาร  และด้านการวิจัย
  
ภูมิชนะ เกิดพงษ์  (https://www.gotoknow.org/posts/181202 )  ได้รวบรวมการวัดผลและประเมินผล  มีเนื้อหาดังต่อไปนี้
การวัดผล กับการประเมินผล คืออะไร?
 ความหมายของการวัดผล (measurement)
การวัดผล หมายถึง กระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งตัวเลข หรือสัญลักษณ์ ที่มีความหมายแทนคุณลักษณะ หรือคุณภาพของสิ่งที่วัด โดยใช้เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพหารายละเอียดสิ่งที่วัดว่ามีจำนวนหรือปริมาณเท่าใด เช่น การวัดส่วนสูงของเด็กเป็นการแปลงคุณลักษณะด้านความสูงออกมาเป็นตัวเลขว่าสูงกี่เซนติเมตรหรือนักเรียนสอบวิชาคณิตศาสตร์ได้ 20 คะแนน ก็เป็นการแปลงคุณภาพด้านความสามารถในวิชาคณิตศาสตร์ออกมาเป็นตัวเลข โดยใช้แบบทดสอบ เป็นต้น
 ความหมายของการประเมินผล (evaluation)
การประเมินผล หมายถึงกระบวนการที่กระทำต่อจากการวัดผล แล้ววินิจฉัยตัดสิน ลงสรุปคุณค่าที่ได้จากการวัดผลอย่างมีกฎเกณฑ์ และมีคุณธรรม เพื่อพิจารณาตัดสินใจว่าสิ่งนั้นดีหรือเลว เก่งหรืออ่อน ได้หรือตก เป็นต้น
          ดังนั้น การวัดผลและการประเมินผลมีความสัมพันธ์กัน กล่าวคือ การวัดผลจะทำให้ได้ตัวเลข ปริมาณ หรือรายละเอียดของคุณลักษณะหรือพฤติกรรมของบุคคล จากนั้นจะนำเอาผลการวัดนี้ไปพิจารณาเปรียบเทียบกับเกณฑ์ที่กำหนดไว้เพื่อตัดสิน หรือลงสรุปเกี่ยวกับสิ่งนั้น ซึ่งเรียกว่าการประเมินผล
           การวัดผลและประเมินผลการศึกษา เกี่ยวข้องกับกระบวนการเรียนการสอนตลอดเวลา ซึ่งจุดมุ่งหมายของการวัดผลและประเมินผลนั้น ไม่ใช่เฉพาะการนำผลการวัดไปตัดสินได้-ตก หรือใครควรจะได้เกรดอะไรเท่านั้น แต่ควรนำผลการวัดและประเมินนี้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการศึกษาในหลาย ๆ ลักษณะดังนี้
1. เพื่อค้นและพัฒนาสมรรถภาพของนักเรียน หมายถึงการวัดผลและประเมินผลเพื่อดูว่านักเรียนบกพร่องหรือไม่เข้าใจในเรื่องใด ตอนใด แล้วครูพยายามสอนให้นักเรียนเกิดความรู้ มีความเจริญงอกงามตามศักยภาพของตนเอง จุดมุ่งหมายข้อนี้สำคัญมาก หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็น ปรัชญาการวัดผลการศึกษา (ชวาล แพรัตกุล. 2516 : 34)
2. เพื่อจัดตำแหน่ง (placement) การวัดผลและประเมินผลวิธีนี้เพื่อเปรียบเทียบตนเองกับคนอื่นๆ โดยอาศัยกลุ่มเป็นเกณฑ์ว่าใครเด่น-ด้อย ใครได้อันดับที่ 1 ใครสอบได้-ตก หรือใครควรได้เกรดอะไร เป็นต้น การวัดผลและประเมินผลวิธีนี้เหมาะสำหรับการตัดสินผลการเรียนแบบอิงกลุ่ม และการคัดเลือกคนเข้าทำงาน
3. เพื่อวินิจฉัย (diagnostic) เป็นการวัดผลและประเมินผลที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อหาความบกพร่องของผู้เรียนว่าวิชาที่เรียนนั้นมีจุดบกพร่องตอนใด เพื่อที่จะได้นำไปปรับปรุงแก้ไข ซ่อมเสริมส่วนที่ขาดหายไปให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งในกระบวนการเรียนการสอนเรียกว่าการวัดผลย่อย (formative measurement)
4. เพื่อเปรียบเทียบ (assessment) เป็นการวัดผลและประเมินผลเพื่อเปรียบเทียบตนเอง หรือ เพื่อดูความงอกงามของเด็กแต่ละคนในช่วงเวลาที่ต่างกัน ว่าเจริญงอกงามเพิ่มขึ้นกว่าเดิมมากน้อยเพียงใด เช่น การเปรียบเทียบผลก่อนเรียน(pre-test) และหลังเรียน (post-test)
  5. เพื่อพยากรณ์ (prediction) เป็นการวัดผลและประเมินผลเพื่อทำนายอนาคตต่อไปว่าจะเป็นอย่างไร นั่นคือเมื่อเด็กคนหนึ่งสอบแล้วสามารถรู้อนาคตได้เลยว่า ถ้าการเรียนของเด็กอยู่ในลักษณะนี้ต่อไปแล้วการเรียนจะประสบผลสำเร็จหรือไม่ ซึ่งสามารถนำไปใช้ในเรื่องของการแนะแนวการศึกษาว่านักเรียนควรเรียนสาขาใด หรืออาชีพใดจึงจะเรียนได้สำเร็จ แบบทดสอบที่ใช้วัด  จุดมุ่งหมายในข้อนี้ ได้แก่ แบบทดสอบวัดความถนัด (aptitude test) แบบทดสอบวัดเชาว์ปัญญา (intelligence test) เป็นต้น
6. เพื่อประเมินผล(evaluation)เป็นการนำผลที่ได้จากการวัดไปเปรียบเทียบกับเกณฑ์ที่กำหนดไว้ เพื่อตัดสินลงสรุปให้คุณค่าของการศึกษา หลักสูตรหรือ เครื่องมือที่ใช้ในการวัดผลว่าเหมาะสมหรือไม่ และควรปรับปรุงแก้ไขอย่างไร
ประโยชน์ของการวัดผลและประเมินผลการศึกษา
การวัดผลและประเมินผลการศึกษา มีประโยชน์ต่อกระบวนการเรียนการสอนเป็นอย่างยิ่งเพราะว่าเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในการตัดสินใจของครู ผู้บริหารและนักการศึกษา ซึ่งพอจะสรุปประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ดังนี้ (อนันต์ ศรีโสภา. 2522 : 1-2)
1. ประโยชน์ต่อครู ช่วยให้ทราบเกี่ยวกับพฤติกรรมเบื้องต้นของนักเรียน ครูก็จะรู้ว่านักเรียนมีความรู้พื้นฐานพร้อมที่จะเรียนในบทต่อไปหรือไม่ ถ้าหากว่านักเรียนคนใดยังไม่พร้อมครูก็จะหาทางสอนซ่อมเสริม นอกจากนี้ยังช่วยให้ครูปรับปรุงเทคนิคการสอนให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพอีกด้วย
2. ประโยชน์ต่อนักเรียน ช่วยให้นักเรียนรู้ว่าตัวเองเก่งหรืออ่อนวิชาใด เรื่องใด ความสามารถของตนอยู่ในระดับใด เพื่อที่จะได้ปรับปรุงตนเอง ตลอดจนแก้ไขข้อบกพร่องทางการเรียนของตนให้ดียิ่งขึ้น
3. ประโยชน์ต่อการแนะแนว ช่วยให้แนะแนวการเลือกวิชาเรียน การศึกษาต่อ การเลือกประกอบอาชีพของนักเรียนให้สอดคล้องเหมาะสมกับความรู้ความสามารถและบุคลิกภาพตลอดจนช่วยให้สามารถแก้ปัญหาทางจิตวิทยา อารมณ์ สังคมและบุคลิกภาพต่างๆของนักเรียน
4. ประโยชน์ต่อการบริหาร ช่วยในการวางแผนการเรียนการสอน ตลอดจนการบริหารโรงเรียน ช่วยให้ทราบว่าปีต่อไปจะวางแผนงานโรงเรียนอย่างไร เช่น การจัดครูเข้าสอน การส่งเสริมเด็กที่เรียนดี การปรับปรุงรายวิชาของโรงเรียนให้ดีขึ้น เป็นต้น นอกจากนั้นแล้วยังมีประโยชน์ต่อการคัดเลือกบุคคลเข้าทำงานในตำแหน่งต่าง ๆ ตามความเหมาะสม
5. ประโยชน์ต่อการวิจัย ช่วยวินิจฉัยข้อบกพร่องในการบริหารงานของโรงเรียน การสอนของครูและข้อบกพร่องของนักเรียน นอกจากนี้ยังนำไปสู่การวิจัย การทดลองต่าง ๆ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษามาก
6. ประโยชน์ต่อผู้ปกครอง (พิตร ทองชั้น. 2524 : 7) ช่วยให้ทราบว่าเด็กในปกครองของตนนั้น มีความเจริญงอกงามเป็นอย่างไร เพื่อเตรียมการสนับสนุนในการเรียนต่อ ตลอดจนการเลือกอาชีพของเด็ก

ฉัตรศิริ ปิยะพิมลสิทธิ์ ( http://www.watpon.com/Elearning/mea1.htm  ) ได้กล่าวถึงการวัดผลและประเมินผลไว้ดังนี้
การวัดผลและประเมินผล : ความหมายและประเภท
การวัดผล (Measurement) คือการกำหนดตัวเลขให้กับวัตถุ สิ่งของ เหตุการณ์ ปรากฎการณ์ หรือพฤติกรรมต่าง ๆ หรืออาจใช้เครื่องมือไปวัดเพื่อให้ได้ตัวเลขแทนคุณลักษณะต่าง ๆ เช่น ใช้ไม้บรรทัดวัดความกว้างของหนังสือได้ 3.5 นิ้ว ใช้เครื่องชั่งวัดน้ำหนักของเนื้อหมูได้ 0.5 กิโลกรัม ใช้แบบทดสอบวัดความรอบรู้ในวิชาภาษาไทยของเด็กชายแดงได้ 42 คะแนน เป็นต้น
การวัดผลแบ่งเป็น 2 ประเภทคือ
1. วัดทางตรง วัดคุณลักษณะที่ต้องการโดยตรง เช่น ส่วนสูง น้ำหนัก ฯลฯ มาตราวัดจะอยู่ในระดับ Ratio Scale
2. วัดทางอ้อม วัดคุณลักษณะที่ต้องการโดยตรงไม่ได้ ต้องวัดโดยผ่านกระบวนการทางสมอง เช่น วัดความรู้ วัดเจตคติ วัดบุคลิกภาพ ฯลฯ มาตราวัดจะอยู่ในระดับ Interval Scale
การวัดทางอ้อมแบ่งออกเป็น 3 ด้านคือ
2.1 ด้านสติปัญญา (Cognitive Domain) เช่น วัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน วัดเชาวน์ปัญญา วัดความถนัดทางการเรียน วัดความคิดสร้างสรรค์ ฯลฯ
2.2 ด้านความรู้สึก (Affective Domain) เช่น วัดความสนใจ วัดเจตคติ วัดบุคลิกภาพ วัดความวิตกกังวล วัดจริยธรรม ฯลฯ
2.3 ด้านทักษะกลไก (Psychomotor Domain) เช่น การเคลื่อนไหว การปฏิบัติโดยใช้เครื่องมือ ฯลฯ
การประเมินผล (Evaluation) หมายถึง การนำเอาข้อมูลต่าง ๆ ที่ได้จากการวัดรวมกับการใช้วิจารณญาณของผู้ประเมินมาใช้ในการตัดสินใจ โดยการเปรียบเทียบกับเกณฑ์ เพื่อให้ได้ผลเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น เนื้อหมูชิ้นนี้หนัก 0.5 กิโลกรัมเป็นเนื้อหมูชิ้นที่เบาที่สุดในร้าน (เปรียบเทียบกันภายในกลุ่ม) เด็กชายแดงได้คะแนนวิชาภาษาไทย 42 คะแนนซึ่งไม่ถึง 50 คะแนนถือว่าสอบไม่ผ่าน (ใช้เกณฑ์ที่ครูสร้างขึ้น) เป็นต้น
การประเมินผลแบ่งได้เป็น 2 ประเภท การประเมินแบบอิงกลุ่มและการประเมินแบบอิงเกณฑ์
1. การประเมินแบบอิงกลุ่ม เป็นการเปรียบเทียบคะแนนจากแบบทดสอบหรือผลงานของบุคคลใดบุคคลหนึ่งกับบุคคลอื่น ๆ ที่ได้ทำแบบทดสอบเดียวกันหรือได้ทำงานอย่างเดียวกัน นั่นคือเป็นการใช้เพื่อจำแนกหรือจัดลำดับบุคคลในกลุ่ม การประเมินแบบนี้มักใช้กับการ การประเมินเพื่อคัดเลือกเข้าศึกษาต่อ หรือการสอบชิงทุนต่าง ๆ
2. การประเมินแบบอิงเกณฑ์ เป็นการเปรียบเทียบคะแนนจากแบบทดสอบหรือผลงานของบุคคลใดบุคคลหนึ่งกับเกณฑ์หรือจุดมุ่งหมายที่ได้กำหนดไว้ เช่น การประเมินระหว่างการเรียนการสอนว่าผู้เรียนได้บรรลุวัตถุประสงค์การเรียนรู้ที่ได้กำหนดไว้หรือไม่
ข้อแตกต่างระหว่างการประเมินผลแบบอิงกลุ่มและอิงเกณฑ์
การประเมินผลแบบอิงกลุ่ม
1. เป็นการเปรียบเทียบคะแนนที่ได้กับคะแนนของคนอื่น ๆ
2. นิยมใช้ในการสอบแข่งขัน
3. คะแนนจะถูกนำเสนอในรูปของร้อยละหรือคะแนนมาตรฐาน
4. ใช้แบบทดสอบเดียวกันทำหรับผู้เรียนทั้งกลุ่มหรืออาจใช้แบบทดสอบคู่ขนาน เพื่อให้สามารถเปรียบเทียบกันได้
5. แบบทดสอบมีความยากง่ายพอเหมาะ มีอำนาจจำแนกสูง
6. เน้นความเที่ยงตรงทุกชนิด
การประเมินแบบอิงเกณฑ์
1. เป็นการเปรียบเทียบคะแนนที่ได้กับเกณฑ์ที่ได้กำหนดไว้
2. สำหรับการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาผู้เรียนหรือเพื่อปรับปรุงการเรียนการสอน
3. คะแนนจะถูกนำเสนอในรูปของผ่าน-ไม่ผ่านตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้
4. ไม่ได้เปรียบเทียบกับคนอื่น ๆ จึงไม่จำเป็นต้องใช้แบบทดสอบฉบับเดียวกันกับผู้เรียนทั้งชั้น
5. ไม่เน้นความยากง่าย แต่อำนาจจำแนกควรมีพอเหมาะ
6. เน้นความเที่ยงตรงเชิงเนื้อหา

สรุปการประเมินผลการเรียนรู้
จากข้อมูลข้างต้นสามารถสรุปได้ว่า  การวัดผลเป็นการกำหนดจำนวนหรือปริมาณให้แก่สิ่งที่วัด  โดยทั่วไปแบ่งออกเป็น 2 ประเภท  คือ การวัดผลทางกายภาพศาสตร์  และการวัดผลทางสังคมศาสตร์  ซึ่งผลการวัดสามารถจำแนกระดับของความละเอียดได้ 4 ระดับ  คือ ระดับนามบัญญัติ  ระดับจัดอันดับ  ระดับอันตรภาค  และระดับอัตราส่วน  การประเมินผล เป็นการสรุปผล  ซึ่งในการสรุปผลนั้นต้องมีองค์ประกอบ 3 ประการ  คือ  ผลของการวัด  เกณฑ์การพิจารณา  และการตัดสินใจ การวัดผลและประเมินผลการศึกษามีประโยชน์มากต่อครูผู้สอนช่วยให้ทราบเกี่ยวกับพฤติกรรมเบื้องต้นของนักเรียน  อีกทั้งมีประโยชน์ในการแนะแนวศึกษาต่อ และวัดความรู้ของนักเรียนว่าอยู่ในระดับใด

ที่มา
มลิวัลย์  ผิวคราม. [Online]   http://www.ipecp.ac.th/ipecp/cgi-binn/webpili/unit1/level1-4.html .  การวัดผลและประเมินผลการศึกษา. เข้าถึงเมื่อวันที่ 9 กันยายน  2558.
ภูมิชนะ เกิดพงษ์ . [Online ] https://www.gotoknow.org/posts/181202.   การวัดผลประเมินผล . เข้าถึงเมื่อวันที่  9 กันยายน  2558.
ฉัตรศิริ ปิยะพิมลสิทธิ์. [Online]  http://www.watpon.com/Elearning/mea1.htm .  การวัดผลและประเมินผล. เข้าถึงเมื่อวันที่  10 กันยายน  2558.

การเรียนรู้แบบเรียนรวม

การเรียนรู้แบบเรียนรวม
พระจันทร์รุ่งสางhttp://www.oknation.net/blog/pannida/2012/11/12/entry-10 )  ได้รวบรวมการจัดการศึกษาแบบเรียนรวม ไว้ดังนี้
การจัดการศึกษาแบบเรียนรวมและจัดการศึกษาแบบเรียนร่วม
การศึกษาแบบเรียนรวม
การศึกษาแบบเรียนรวม หมายถึง การรับเด็กเข้ารับการศึกษาโดยไม่แบ่งแยกความบกพร่องของเด็ก หรือคัดแยกเด็กที่ด้อยว่าเด็กส่วนใหญ่ออกจากชั้นเรียน แต่จะใช้การบริหารจัดการและวิธีการในการให้เด็กเกิดการเรียนรู้และพัฒนาการตามความต้องการ จำเป็นอย่างเหมาะสมเป็นรายบุคคล 
ลักษณะของการจัดการศึกษาแบบเรียนรวม
ความแตกต่างจากรูปแบบการจัดการศึกษาสำหรับเด็กพิเศษและเด็กปกติคือ จะต้องถือหลักการดังนี้

เด็กแต่ละคนมีความแตกต่างกัน
เด็กทุกคนเข้าเรียนในโรงเรียนพร้อมกัน
โรงเรียนจะต้องปรับสภาพแวดล้อมในการเรียนรู้ทุกด้านเพื่อให้สามารถสอนเด็กได้ทุกคน
โรงเรียนจะต้องให้บริการ สื่อ สิ่งอำนวยความสะดวกและความช่วยเหลือต่าง ๆ ทางการศึกษาให้แก่เด็กที่มีความต้องการจำเป็นนอกเหนือจากเด็กปกติทุกคน
โรงเรียนสามารถจัดการศึกษาได้หลายรูปแบบในโรงเรียนปกติทั่วไปโดยจัดให้มีสภาพแวดล้อมที่มีขีดจำกัดน้อยที่สุด
 ศึกษาแบบเรียนรวมมีรูปแบบใด
การจัดการศึกษาแบบเรียนรวม เป็นการจัดการศึกษาสำหรับเด็กพิเศษที่มีขีดจำกัดน้อยที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับการจัดการศึกษาในรูปแบบต่าง ๆ การศึกษาแบบเรียนรวมจะมีบรรยากาศที่เป็นจริงตามสภาพของสังคมในปัจจุบัน ซึ่งทุกคนในโรงเรียนจะมีความตระหนักเกี่ยวกับสิทธิความเสมอภาคในด้านการศึกษา มีความแตกต่างกันตามศักยภาพในการเรียนรู้ มีความร่วมมือช่วยเหลือกันและกันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการเรียนรู้ ฝึกทักษะความสามารถในการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างเป็นสุข มีความยืดหยุ่นและปฏิบัติตนตามสภาพจริงได้อย่างเหมาะสม
ศึกษาแบบเรียนรวมมีหลักการใด
การศึกษาแบบเรียนรวม มีหลักการว่า เด็กเลือกโรงเรียนไม่ใช่โรงเรียนเลือกเด็ก เด็กทุกคนมีสิทธิที่จะเรียนรวมกันโดยโรงเรียนและครูจะต้องปรับสภาพแวดล้อม หลักสูตรวัตถุประสงค์ เทคนิคการสอน สื่ออุปกรณ์ การประเมินผลเพื่อให้ครูและโรงเรียนสามารถจัดการเรียนการสอนเพื่อสนองความต้องการของเด็กทุกคนเป็นรายบุคคลได้
แนวคิดและปรัญญาของการจัดการศึกษาแบบเรียนรวม
การจัดการศึกษาแบบเรียนรวม จะต้องร่วมมือกันระหว่างองค์กรที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน รวมทั้งผู้ปกครองและชุมชน โดยปลูกฝังด้านจิตสำนึกและเจตคติเกี่ยวกับการจัดการศึกษาให้แก่เด็กทุกคนโดยคำนึงถึงศักยภาพความแตกต่างระหว่างบุคคล หรือความบกพร่องเฉพาะบุคคล ซึ่งจะให้สิทธิเท่าเทียมกันทุกคน โดยไม่เลือกปฏิบัติต่อบุคคลใดเป็นพิเศษเฉพาะ
ปรัญญาของการศึกษาแบบเรียนรวม
การจัดการศึกษาแบบเรียนรวม เกิดจากปรัชญาการศึกษาที่กล่าวไว้ว่า การศึกษาเพื่อทุกคน (Education for All) เพราะเด็กแต่ละคนจะมีความแตกต่างทั้งในด้านร่างกาย สติปัญญา อารมณ์และสังคม ดังนั้นความต้องการของเด็ก ๆ ทุกคนย่อมมีความแตกต่างกันแม้อยู่ในชั้นเรียนเดียวกัน โรงเรียนและครูจึงต้องปรับเปลี่ยนเพื่อให้เด็กทุกคนเรียนรวมกันและได้รับการพัฒนาเต็มศักยภาพของแต่ละบุคคล
ทฤษฎีของการศึกษาแบบเรียนรวม
การดำเนินการศึกษาแบบเรียนรวม มีหลักการดังนี้ทำสัญญาร่วมกันในการจัดการศึกษาแบบเรียนรวม ซึ่งองค์การสหประชาชาติ ได้ประกาศไว้เมื่อปี คริสตศักราช 1995 ให้ทุกประเทศจัดการศึกษาแบบเรียนรวมดำเนินการตามหลักการแบ่งสัดส่วนตามธรรมชาติ ซึ่งในสังคมหรือชุมชนหนึ่ง ๆ จะมีเด็กพิการหรือเด็กพิเศษปะปนอยู่ เด็กทั้งหมดควรอยู่ร่วมกันตามปกติ โดยไม่มีการนำเด็กพิเศษออกจากชุมชนมารวมกันเพื่อรับการศึกษาที่เป็นการขัดแย้งกับธรรมชาตินำบุคลากรทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเด็กมาทำงานร่วมกัน ได้แก่ พ่อแม่ ผู้ปกครอง ของเด็กปกติและเด็กพิเศษ ผู้บริหารโรงเรียน ผู้ช่วยผู้บริหาร ครูประจำชั้น ครูพิเศษ และบุคลากรในชุมชนอื่น ๆ
หลักการการจัดการศึกษาแบบเรียนรวม
แผนการจัดการศึกษาแบบเรียนรวมการเรียนรู้ของเด็กที่มีความต้องการพิเศษลักษณะความแตกต่างกันระหว่างบุคคลมีผลต่อระดับความสำเร็จในการเรียนรู้ ทั้งนี้เพราะการเรียนรู้เป็นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปจากเดิมเพื่อไปสู่พฤติกรรมใหม่ที่ค่อนข้างถาวร อันเป็นผลมาจากประสบการณ์ หรือการฝึกฝน ซึ่งการเรียนรู้ของคนเราอาศัยประสาทสัมผัส ได้แก่ หู ตา จมูกลิ้น กาย ใจ เป็นองค์ประกอบหลักของการเรียนรู้และการรับรู้ หากมีส่วนใดส่วนหนึ่งสูญเสีย หรือบกพร่องไปย่อมมีผลต่อการเรียนรู้ และการรับรู้ตามไปด้วย ทำให้การเรียนรู้ของเด็กต้องล้มเหลว เรียนไม่ได้ดีเท่าที่ควรหรือเกิดข้อขัดข้องเสียก่อน ซึ่งอาจจัดเป็นองค์ประกอบใหญ่ ๆ ได้ 3 ประการ
1. องค์ประกอบด้านสรีรวิทยา ได้แก่ สาเหตุที่สืบเนื่องมาจากการทำงานผิดปกติของระบบการทำงานของร่างกาย เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับปัญหาทางร่างกายของเด็กเอง
2. องค์ประกอบด้านจิตวิทยา ได้แก่ สติปัญญา อัตราเร็วของการเรียนรู้ ความรู้สึกนึกคิดเกี่ยวกับตนเอง การปรับตัวทางอารมณ์และสังคม ความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวและเพื่อน
3. องค์ประกอบด้านสภาพแวดล้อม ตลอดจนประสบการณ์ต่าง ๆ เด็กที่มีความต้องการพิเศษย่อมได้รับผลกระทบต่อการเรียนรู้ในด้าน ต่าง ๆ และหากเป็นเด็กที่มีความบกพร่องทางด้านต่าง ๆ ซ้อนจะมีผลกระทบต่อการเรียนรู้มากขึ้นไปอีก ซึ่งแยกพิจารณาถึงผลกระทบของความบกพร่องที่มีต่อการเรียนรู้ของเด็กที่มีความต้องการแต่ละประเภท ดังนี้
-เด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา
-เด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน
-เด็กที่มีความบกพร่องทางการเห็น
-เด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกายและสุขภาพ
-เด็กที่มีความบกพร่องทางการพูดและภาษา
-เด็กที่มีความบกพร่องทางพฤติกรรมและอารมณ์
-เด็กที่มีปัญหาทางการเรียนรู้

ฉวีวรรณ โยคิน ( http://61.19.246.216/~nkedu2/?name=webboard&file=read&id=177 ) ได้เรียบเรียงการศึกษาแบบเรียนรวม ไว้ดังนี้
           การจัดการศึกษาสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ มีพื้นฐานของความเชื่อที่ว่า เด็กที่มีความต้องการพิเศษทุกคนสามารถเรียนรู้และพัฒนาได้ถ้าได้รับโอกาสในการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับความต้องการพิเศษของเขา การจัดการศึกษาสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษที่สำคัญ คือ ให้โอกาสเด็กที่มีความต้องการพิเศษได้เรียนร่วมกับเด็กปกติในโรงเรียนปกติและดำรงชีวิตอยู่ในชุมชนร่วมกับบุคคลอื่นๆ การจัดการเรียนรวมในโรงเรียนจึงนับเป็นก้าวสำคัญของการปฏิรูปการศึกษาของประเทศไทย (ดารณี อุทัยรัตนกิจ และคณะ,2546 : 53- 58) ซึ่ง การเรียนรวมเป็นคำที่กล่าวถึงกันมากในวงการ การศึกษาพิเศษในประเทศตะวันตกตั้งแต่ ปีค.ศ. 1990 เป็นต้นมา ในประเทศสหรัฐอเมริการัฐบาลได้กำหนดเป็นนโยบายสำคัญในการจัดการศึกษาพิเศษโดยการเรียนรวม และกำหนดมาตรการหลายอย่างให้โรงเรียนปฏิบัติตาม ซึ่งผู้ปกครองก็มีบทบาทสำคัญในการเร่งให้โรงเรียนต่างๆ นำแนวคิดนี้มาใช้ ในประเทศสหราชอาณาจักรก็มีแนวโน้มในลักษณะนี้เช่นเดียวกัน และแนวคิดนี้ได้แพร่กระจายไปยังประเทศต่างๆ เกือบทั่วโลก
                 ถ้าเราพิจารณามองระบบการจัดการศึกษาแบบดั้งเดิมจะพบว่า การจัดการศึกษาจัดในรูปแบบเดียว คือ การศึกษาปกติทั่วไป(Regular Education) ซึ่งแต่เดิมไม่ได้คำนึงถึงเด็กพิการหรือเด็กที่ไม่สามารถเรียนรู้ได้ในระบบปกติทั่วไป แต่ต่อมาได้มีกลุ่มนักการศึกษามองเห็นว่า เด็กที่มีความต้องการพิเศษเหล่านนั้น สามารถให้การศึกษาได้ จึงได้จัดเป็นโรงเรียนพิเศษเฉพาะความพิการให้กับกลุ่มเด็กพิการเหล่านี้ จึงได้เป็นจุดกำเนิด การศึกษาพิเศษ(Special Education) ขึ้น เมื่อจัดการพิเศษไปสักระยะเวลาหนึ่ง กลุ่มนักการศึกษาได้มีการทดลองให้เด็กที่มีความต้องการพิเศษเข้าไปเรียนร่วมในโรงเรียนทั่วไป พบว่าเด็กพิการกลุ่มทดลองสามารถพัฒนาได้มาก จึงเกิดวิธีการจัดการศึกษาแบบเรียนร่วม เรียกว่า การเรียนร่วม (Integrated Education หรือ Mainstreaming) หลังจากที่ได้มีการจัดการเรียนร่วมไประยะหนึ่ง นักการศึกษาได้ทำการวิจัยเพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็กที่มีความต้องการพิเศษในโรงเรียนการศึกษาพิเศษเฉพาะความพิการ กับเด็กที่เรียนร่วมในโรงเรียนทั่วไป พบว่าผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็กกลุ่มนี้ไม่มีความแตกต่างกัน และยังพบอีกว่าเด็กที่เรียนร่วมนั้นมีทักษะทางสังคมดีกว่าเด็กที่อยู่ในโรงเรียนพิเศษเฉพาะความพิการ และยังสมารถพัฒนาพฤติกรรมที่เหมาะสมหรือพฤติกรรมที่ยอมรับกันในสังคมทั่วไปได้ดีกว่า จึงได้มีคำจำกัดความของ การเรียนร่วม คือ การที่เด็กที่มีความต้องการพิเศษ (Special Needs) ได้รับโอกาสเข้าเรียนร่วมกิจกรรมต่างๆ ของโรงเรียนได้อย่างเหมาะสม สอดคล้องกับความต้องการจำเป็นทางร่างกาย อารมณ์ สังคม จิตใจ สติปัญญา และการเรียนรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพของเด็กให้ได้สูงสุด
ทำไมต้องมีการจัดการศึกษาแบบเรียนรวม
              การจัดการศึกษาแบบเรียนรวม มีประเด็นสำคัญอยู่ 2 ประเด็น คือ ประเด็นที่ 1 โรงเรียนการศึกษาพิเศษต้องเตรียมเด็กที่มีความต้องการพิเศษให้พร้อมที่จะเข้าเรียนร่วมได้ ซึ่งหมายความว่าเด็กจะต้องมีพัฒนาการเท่าเทียมกับเด็กปกติทั่วไปทุกประการจึงจะได้รับโอกาสเข้าเรียนร่วม ประเด็นที่ 2
โรงเรียนและชั้นเรียนปกติทั่วไปไม่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยน หลักสูตร เทคนิคการสอน การประเมิน
โรงเรียนเพียงแต่จัดบริการสนับสนุนช่วยเหลือเพิ่มเติม ซึ่งมีมุมมองด้านการจัดการเรียนร่วมอยู่ว่า หากโรงเรียนใดที่ผู้บริหาร และ ครูเข้าใจ เด็กก็จะได้รับโอกาสให้เข้าเรียนร่วมและได้รับการสนับสนุน แต่หากโรงเรียนใดที่ผู้บริหาร และครู ไม่เข้าใจ เด็กก็จะขาดโอกาสที่จะได้รับการสนับสนุนช่วยเหลือให้สามารถเรียนรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพให้ได้สูงสุด ซึ่งนับได้ว่าเป็นจุดอ่อนของการจัดการเรียนร่วม และจุดอ่อนตรงที่โรงเรียนแทบจะไม่ต้องปรับเปลี่ยนอะไรเลยเช่นนี้ โดยถือว่าปัญหาอยู่ที่เด็กไม่ใช่ที่โรงเรียน ได้มีกลุ่มนักการศึกษาที่ได้ศึกษาและสนับสนุนสิทธิทางการศึกษาของเด็กทุกคน โดยถือว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานและเป็นสิทธิของเด็กทุกคนที่จะต้องได้รับการปฏิบัติอย่างมีศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ จึงได้เกิดมีปรัชญา และแนวทางการจัดการศึกษาในแนวใหม่ เรียกว่า การศึกษาแบบเรียนรวม
(Inclusive Education) มีการหลักการว่า เด็กเลือกโรงเรียน ไม่ใช่โรงเรียนเลือกรับเด็กเหมือนอย่างเช่นการเรียนร่วม และเด็กทุกคนควรมีสิทธิจะเรียนรวมกันโดยทางโรงเรียนและครูจะต้องเป็นผู้ปรับสภาพแวดล้อม หลักสูตร การประเมินผล วัตถุประสงค์ ฯลฯ เพื่อครูและโรงเรียนสามารถจัดการเรียนการสอนเพื่อสนองตอบความต้องการของนักเรียนทุกคนและเฉพาะบุคคลได้ 
การศึกษาแบบเรียนรวม คือ อะไร 
               ศูนย์การศึกษาของสภาสถาบันราชภัฎทั้ง 6 ศูนย์ คือ สถาบันราชภัฎสวนดุสิต เชียงใหม่ พิบูลย์สงคราม นครราชสีมา และสงขลา ได้ร่วมกันให้คำจำกัดความการศึกษาแบบเรียนรวมของประเทศไทยไว้ว่า
             การศึกษาแบบเรียนรวม คือ การศึกษาสำหรับทุกคนโดยรับเข้ามาเรียนรวมกัน ตั้งแต่เริ่มเข้ารับการศึกษา และจัดให้มีบริการพิเศษตามความต้องการของแต่ละบุคคล (เบญจา ชลธาร์นนท์, 2544) และมีนักการศึกษาต่างประเทศ ได้ให้คำจำกัดความของการศึกษาแบบเรียนรวม ไว้ว่า
            การศึกษาแบบเรียนรวม หมายถึง การจัดการเรียนการสอนที่ยึดปรัชญาของการอยู่รวมกัน (Inclusion) เป็นหลัก นั่น คือ การสอนที่ดี เป็นการสอนที่ครูกับนักเรียนช่วยกันให้ทุกคนเป็นสมาชิกที่ดีของชุมชน โดยการสร้างวิสัยทัศน์ใหม่ให้กับชุมชนและโรงเรียน การอยู่รวมกันจึงมีความหมายรวมไปถึงกิจกรรมทุกชนิดที่จะนำไปสู่การสอนที่ดี (Good Teaching) ซึ่งเป็นการคิดอย่างรอบคอบเพื่อหาหนทางให้นักเรียนทุกคนสามารถเรียนได้เป็นการกำหนดทางเลือกหลายๆ ทาง (Wilson , Kliewer, East, 2007) จากความหมายดังกล่าว อาจกล่าวได้ว่า การเรียนรวม เป็นแนวคิดทางการศึกษาอย่างหนึ่งที่โรงเรียนจะต้องจัดการศึกษาให้กับเด็กทุกคนโดยไม่มีการแบ่งแยกว่าเด็กคนใดเป็นเด็กปกติ หรือเด็กคนใดเป็นเด็กที่มีความต้องการพิเศษ เด็กทุกคนที่ผู้ปกครองพาเข้ามาโรงเรียนทางโรงเรียนจะต้องรับเด็กไว้ และจะต้องจัดการศึกษาให้อย่างเหมาะสม และดำเนินการเรียนในลักษณะ รวมกันที่ทุกคนต่างเป็นส่วนหนึ่ง ของสังคม ทุกคนยอมรับซึ่งกันและกัน ทุกคนยอมรับว่ามี ผู้พิการ อยู่ในสังคมและเขาเหล่านั้นต่างก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่จะต้องใช้ชีวิตร่วมกันกับคนปกติ โดยไม่มีการแบ่งแยก การเรียนรวมยังแบ่งออกเป็นการเรียนเต็มเวลา และการเรียนรวมบางเวลา การเรียนรวมเต็มเวลา (Full Inclusion) หมายถึง การให้เข้าเรียนในชั้นเรียนรวมตลอดทั้งวันเช่นเดียวกับการมาโรงเรียนตามปกติของนักเรียนทั้งหลาย การเรียนรวมบางเวลา (Partial Inclusion) หมายถึง การให้เด็กเข้าเรียนในชั้นเรียนรวมในบางชั่วโมงของ 1 วัน หรือ บางชั่วโมงของเวลาเรียนใน 1 สัปดาห์ เป็นการเข้าเรียนไม่เต็มเวลาของการเรียนปกติ
การเรียนรวมมีหลักการอย่างไร
             จากปรัชญา แนวคิด และความเชื่อของการเรียนรวม ได้มีนักการศึกษาพิเศษและบุคคลที่เกี่ยวข้องได้เสนอหลักการเรียนรวม ดังนี้ ( ผดุง อารยะวิญญู และ วาสนา เลิศศิลป์, 2551)
1. ความยุติธรรมในสังคม (Social Justice) เด็กที่มีความต้องการพิเศษเป็นส่วนหนึ่งของสังคม เมื่อเด็กปกติทุกคนได้รับการศึกษาในโรงเรียนปกติ เด็กที่มีความต้องการพิเศษควรได้รับการศึกษาในโรงเรียนปกติด้วย หากกีดกันไม่ให้เด็กที่มีความต้องการพิเศษเข้าเรียนปกติ หลายคนมีความเชื่อว่า นั่นคือความไม่ยุติธรรมในสังคม นักการศึกษาจำนวนมากเชื่อว่า ความยุติธรรมในสังคม ซึ่งจะนำมาซึ่งความสุขในสังคมนั้นมีความสัมพันธ์กับความต้องการทางสังคมของเด็ก กล่าวคือ เด็กทุกคนรวมทั้งเด็กที่มีความต้องการพิเศษทางการศึกษา ต้องการความรัก ต้องการความเข้าใจ ต้องการยอมรับ ต้องการมีบทบาท และมีการส่วนร่วมในสังคม เพราะมนุษย์ทุกผู้ทุกนามล้วนเป็นสัตว์สังคมทั้งสิ้น การศึกษาพิเศษในอดีตที่ผ่านมามุ่งเห็นความแตกต่าง มากกว่ามุ่งเน้นความเหมือนมุ่งเน้นจุดอ่อนหรือความไม่สามารถมากมาย บางคนมีความสามารถมากกว่าคนปกติเสียอีก ดังนั้นแนวการจัดการศึกษาพิเศษ จึงมุ่งเน้นความสามารถของเด็ก และการยอมรับของสังคม
2. การคืนสู่สภาวะปกติ (Normalization) หมายถึง การจัดสภาพการใด ๆ เพื่อให้ผู้ที่มีความบกพร่องทางด้านต่าง ๆ สามารถได้รับบริการเช่นเดียวกับคนปกติ เช่น ในด้านที่อยู่อาศัย ในอดีตคนพิการ มักถูกส่งเข้าไปอยู่รวมกันในสถานสงเคราะห์ต่อมามีการสร้างบ้านสำหรับคนพิการขึ้นในชุมชน เพื่อให้เขาดำรงชีพอยู่ในสังคมและเป็นส่วนตัวของสังคม การสร้างสถานสงเคราะห์คนพิการในรูปแบบต่าง ๆ จึงลดลงและหันมาให้บริการแก่ผู้บกพร่องในลักษณะดังกล่าวแทน ผู้ที่มีความบกพร่องอาจมีส่วนร่วมในกิจกรรมกีฬาดนตรี ศิลปะ วัฒนธรรมต่าง ๆ เช่นเดียวกับคนปกติ ความเคลื่อนไหวนี้ มีขึ้นในระบบการศึกษา มีการหยุดโรงเรียนเฉพาะหรือโรงเรียนพิเศษ เช่น โรงเรียนโสตศึกษา โรงเรียนสอนคนตาบอด แต่หันมาส่งเสริมให้เด็กได้เรียนในโรงเรียนปกติ เด็กที่อยู่โรงเรียนเฉพาะทั้งหลายจึงถูกส่งกลับบ้าน เพื่อให้เข้าเรียนโรงเรียนใกล้บ้าน
  3. สภาพแวดล้อมที่มีข้อจำกัดน้อยที่สุด (Least Restrictive Environment) คือ การจัดให้เด็กเรียนในสภาพแวดล้อมที่มีข้อจำกัดน้อยที่สุด จึงจะเป็นผลดีกับเด็กมากที่สุดโดยเด็กได้รับผลประโยชน์มากที่สุด โรงเรียนพิเศษ เช่น โรงเรียนโสตศึกษา โรงเรียนศึกษาพิเศษ หรือโรงเรียนเฉพาะประเภทอื่น ๆ ร่วมถึงชั้นพิเศษด้วย จัดอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่มีข้อจำกัด เนื่องจากเด็กต้องถูกจำกัดให้อยู่ในโรงเรียนเฉพาะไม่สามารถเรียนในโรงเรียนปกติได้ โรงเรียนแบบเรียนร่วมเป็นโรงเรียนที่เปิดโอกาสให้กับทุกคนรวมทั้งเด็กที่มีความต้องการพิเศษทางการศึกษาด้วย เปิดโอกาสให้กับทุกคน รวมทั้งเด็กที่มีความต้องการพิเศษทางการศึกษาด้วย เปิดโอกาสให้ครูได้เข้าใจเด็กว่าในโลกนี้ยังมีเด็กประเภทนี้อยู่ในโลก อยู่รวมสังคมกับเรา เขาเป็นส่วนหนึ่งของสังคม พื้นฐานที่จะทำให้การเรียนร่วมประสบผลสำเร็จ ที่จะทำให้คนในสังคมอยู่รวมกันได้ อย่างไรก็ตามเด็กทุกคนไม่จำเป็นต้องเรียนร่วมในโรงเรียนพิเศษของประเทศที่เจริญแล้ว ไม่ว่าจะเป็นประเทศในทวีปอเมริกาเหนือ ยุโรป ออสเตเลีย นิวซีแลนด์ หรือญี่ปุ่น ต่างดำเนินไปในลักษณะนี้ทั้งนั้น นั่นคือให้เด็กที่มีความต้องการพิเศษทางการศึกษาได้มีโอกาสเรียนรู้ในสภาพแวดล้อมที่มีข้อจำกัดน้อยที่สุด
  4. การเรียนรู้ (Learning) มีความเชื่อว่า เด็กทุกคนสามารถเรียนรู้ได้ ไม่ว่าเด็กนั้นจะเป็นเด็กปกติ หรือเด็กที่มีความต้องการทางการศึกษาก็ตาม ในอดีตที่ผ่านมา หลายคนเชื่อว่าเด็กปัญญาอ่อนไม่สามารถเรียนหนังสือได้แต่ต่อมาได้มีการพิสูจน์ว่าเด็กปัญญาอ่อนสามารถเรียนหนังสือได้ ที่เห็นเด่นชัดก็คือ เด็กปัญญาอ่อนประเภทเรียนได้ (Educable Mentally Retarded Children) สามารถเรียนหนังสือได้ในชั้นประถมศึกษาหรือในระดับชั้นที่สูงกว่า หากเด็กที่มีความพร้อม และได้รับการสนับสนุนอย่างถูกต้องและถูกวิธี เด็กปัญญาอ่อนที่มีระดับสติปัญญาต่ำมากแม้จะไม่สามารถเรียนหนังสือได้เช่นเดียวกับเด็กปกติ แต่เขาก็สามารถเรียนรู้ได้ตามศักยภาพของเขา
   จากหลักการเรียนรวม อาจกล่าวได้ว่า เด็กที่มีความต้องการพิเศษหลายคนอาจเรียนรู้ได้ดี แต่การประเมินการสอน จะต้องจัดให้สอดคล้องกับลักษณะการเรียนรู้ของเด็ก ให้สอดคล้องกับระดับความสามารถของแต่ละคน การสอนให้จำอย่างเดียว ไม่ถือว่าเป็นการสอนที่ดีและไม่เป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ที่ดี เพราะเด็กที่เรียนรู้ได้ดีในเนื้อหาวิชา อาจไม่ประสบความสำเร็จ ในชีวิตการงานก็ได้ การเรียนรู้ที่ดีอาจพิจารณาได้จากการที่เด็กมีความพึงพอใจในการเรียน มีความพึงพอใจในงานที่ตนเองทำ ซึ่งความพึงพอใจอาจแตกต่างกันไปในแต่ละคน ดังนั้นโรงเรียนที่จะจัดการเรียนรวมได้ดี ส่งเสริมการเรียนรู้ได้ดี ควรปรับกระบวนการใหม่ตั้งแต่ปรัชญาการศึกษา หลักสูตรการเรียนการสอน การประเมินผล ให้สอดคล้องกับลักษณะการเรียนรู้ที่แท้จริงของผู้เรียน 
              อาจกล่าวได้ว่า การจัดการเรียนรวมมีหลายรูปแบบ แต่ละรูปแบบมีลักษณะแตกต่างกันไป แต่ละรูปแบบมีลักษณะเฉพาะ และมีความเหมาะกับสถานการณ์ที่แตกต่างกันไป และอาจมีรูปแบบอื่นที่มิได้จำกัดอยู่เพียง 8 รูปแบบที่กล่าวมานี้ อย่างไรก็ตามไม่มีรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งที่ดีที่สุดแต่ละรูปแบบเป็นทางเลือกที่คนพิการ สามารถเลือกเรียนได้ตามความต้องการจำเป็นที่เหมาะสมสำหรับคนพิการแต่ละคนในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งเท่านั้น 

  https://www.gotoknow.org/posts/548117  ได้รวบรวมการศึกษาแบบเรียนรวม ไว้ดังนี้               
การศึกษาแบบเรียนรวม หมายถึง การรับเด็กเข้ารับการศึกษาโดยไม่แบ่งแยกความบกพร่องของเด็ก หรือคัดแยกเด็กที่ด้อยว่าเด็กส่วนใหญ่ออกจากชั้นเรียน แต่จะใช้การบริหารจัดการและวิธีการในการให้เด็กเกิดการเรียนรู้และพัฒนาการตามความต้องการ จำเป็นอย่างเหมาะสมเป็นรายบุคคล 
ลักษณะของการจัดการศึกษาแบบเรียนรวม
ความแตกต่างจากรูปแบบการจัดการศึกษาสำหรับเด็กพิเศษและเด็กปกติคือ จะต้องถือหลักการดังนี้
• เด็กแต่ละคนมีความแตกต่างกัน
• เด็กทุกคนเข้าเรียนในโรงเรียนพร้อมกัน
• โรงเรียนจะต้องปรับสภาพแวดล้อมในการเรียนรู้ทุกด้านเพื่อให้สามารถสอนเด็กได้ทุกคน
• โรงเรียนจะต้องให้บริการ สื่อ สิ่งอำนวยความสะดวกและความช่วยเหลือต่าง ๆ ทางการศึกษาให้แก่เด็กที่มีความต้องการจำเป็นนอกเหนือจากเด็กปกติทุกคน
• โรงเรียนสามารถจัดการศึกษาได้หลายรูปแบบในโรงเรียนปกติทั่วไปโดยจัดให้มีสภาพแวดล้อมที่มีขีดจำกัดน้อยที่สุด
ศึกษาแบบเรียนรวมมีรูปแบบใด
การจัดการศึกษาแบบเรียนรวม เป็นการจัดการศึกษาสำหรับเด็กพิเศษที่มีขีดจำกัดน้อยที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับการจัดการศึกษาในรูปแบบต่าง ๆ การศึกษาแบบเรียนรวมจะมีบรรยากาศที่เป็นจริงตามสภาพของสังคมในปัจจุบัน ซึ่งทุกคนในโรงเรียนจะมีความตระหนักเกี่ยวกับสิทธิความเสมอภาคในด้านการศึกษา มีความแตกต่างกันตามศักยภาพในการเรียนรู้ มีความร่วมมือช่วยเหลือกันและกันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการเรียนรู้ ฝึกทักษะความสามารถในการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างเป็นสุข มีความยืดหยุ่นและปฏิบัติตนตามสภาพจริงได้อย่างเหมาะสม

ศึกษาแบบเรียนรวมมีหลักการใด
การศึกษาแบบเรียนรวม มีหลักการว่า เด็กเลือกโรงเรียนไม่ใช่โรงเรียนเลือกเด็ก เด็กทุกคนมีสิทธิที่จะเรียนรวมกันโดยโรงเรียนและครูจะต้องปรับสภาพแวดล้อม หลักสูตรวัตถุประสงค์ เทคนิคการสอน สื่ออุปกรณ์ การประเมินผลเพื่อให้ครูและโรงเรียนสามารถจัดการเรียนการสอนเพื่อสนองความต้องการของเด็กทุกคนเป็นรายบุคคลได้
แนวคิดและปรัญญาของการจัดการศึกษาแบบเรียนรวม
การจัดการศึกษาแบบเรียนรวม จะต้องร่วมมือกันระหว่างองค์กรที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน รวมทั้งผู้ปกครองและชุมชน โดยปลูกฝังด้านจิตสำนึกและเจตคติเกี่ยวกับการจัดการศึกษาให้แก่เด็กทุกคนโดยคำนึงถึงศักยภาพความแตกต่างระหว่างบุคคล หรือความบกพร่องเฉพาะบุคคล ซึ่งจะให้สิทธิเท่าเทียมกันทุกคน โดยไม่เลือกปฏิบัติต่อบุคคลใดเป็นพิเศษเฉพาะ
ปรัญญาของการศึกษาแบบเรียนรวม
การจัดการศึกษาแบบเรียนรวม เกิดจากปรัชญาการศึกษาที่กล่าวไว้ว่า การศึกษาเพื่อทุกคน (Education for All) เพราะเด็กแต่ละคนจะมีความแตกต่างทั้งในด้านร่างกาย สติปัญญา อารมณ์และสังคม ดังนั้นความต้องการของเด็ก ๆ ทุกคนย่อมมีความแตกต่างกันแม้อยู่ในชั้นเรียนเดียวกัน โรงเรียนและครูจึงต้องปรับเปลี่ยนเพื่อให้เด็กทุกคนเรียนรวมกันและได้รับการพัฒนาเต็มศักยภาพของแต่ละบุคคล
ทฤษฎีของการศึกษาแบบเรียนรวม
การดำเนินการศึกษาแบบเรียนรวม มีหลักการดังนี้ทำสัญญาร่วมกันในการจัดการศึกษาแบบเรียนรวม ซึ่งองค์การสหประชาชาติ ได้ประกาศไว้เมื่อปี คริสตศักราช 1995 ให้ทุกประเทศจัดการศึกษาแบบเรียนรวมดำเนินการตามหลักการแบ่งสัดส่วนตามธรรมชาติ ซึ่งในสังคมหรือชุมชนหนึ่ง ๆ จะมีเด็กพิการหรือเด็กพิเศษปะปนอยู่ เด็กทั้งหมดควรอยู่ร่วมกันตามปกติ โดยไม่มีการนำเด็กพิเศษออกจากชุมชนมารวมกันเพื่อรับการศึกษาที่เป็นการขัดแย้งกับธรรมชาตินำบุคลากรทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเด็กมาทำงานร่วมกัน ได้แก่ พ่อแม่ ผู้ปกครอง ของเด็กปกติและเด็กพิเศษ ผู้บริหารโรงเรียน ผู้ช่วยผู้บริหาร ครูประจำชั้น ครูพิเศษ และบุคลากรในชุมชนอื่น ๆ
พัฒนาเครือข่ายผู้ให้การสนับสนุน ซึ่งครูทุกคนในโรงเรียนจะต้องช่วยกันทำงานไม่ถือว่าเป็นหน้าที่ของคนใดคนหนึ่ง ถ้าหากมีเด็กพิเศษในโรงเรียน รวมทั้งการพบพูดคุยและปรึกษากับผู้ปกครอง จัดให้ผู้ปกครองเด็กพิเศษด้วยกันและผู้ปกครองเด็กปกติพบกันเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกันหรือสนับสนุนในเรื่องต่าง ๆ แก่กันจัดให้มีกิจกรรมร่วมกันระหว่างเด็ก ผู้ปกครอง ครู ผู้บริหารและบุคลากรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการใช้ทรัพยากรร่วมกันทั้งในโรงเรียนและในชุมชน รวมทั้งจัดสรรงบประมาณทั้งภาครัฐและเอกชนในกิจกรรมร่วมระหว่างเด็กพิเศษกับเด็กปกติจัดการปรับเปลี่ยนหลักสูตร เพื่อให้เกิดความเหมาะสมและครอบคลุมถึงเด็กพิเศษทุกคนในกลุ่มเด็กปกติจัดให้มีความยืดหยุ่นในทุกสถานการณ์ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่เด็กพิเศษและเด็กปกติทุกคน

สรุปการเรียนรู้แบบเรียนรวม
การศึกษาแบบเรียนรวม หมายถึง การรับเด็กเข้ารับการศึกษาโดยไม่แบ่งแยกความบกพร่องของเด็ก หรือคัดแยกเด็กที่ด้อยว่าเด็กส่วนใหญ่ออกจากชั้นเรียน แต่จะใช้การบริหารจัดการและวิธีการในการให้เด็กเกิดการเรียนรู้และพัฒนาการตามความต้องการ จำเป็นอย่างเหมาะสมเป็นรายบุคคล 
ลักษณะของการจัดการศึกษาแบบเรียนรวมมีความแตกต่างจากรูปแบบการจัดการศึกษาสำหรับเด็กจะต้องจัดการศึกษาให้กับเด็กทุกคน ไม่มีการแบ่งแยกว่าเด็กคนใดเป็นเด็กทั่วไป หรือเด็กคนใดที่มีความต้องการพิเศษ  จะต้องจัดการศึกษาให้อย่างเหมาะสม ตามหลักการเรียนรวม เด็กที่มีความต้องการพิเศษจะได้เรียนในโรงเรียนปกติใกล้บ้านโดยไม่มีการแบ่งแยก ได้เรียนในชั้นเดียวกับเพื่อนในวัยเดียวกันไม่มีห้องเรียนพิเศษการช่วยเหลือสนับสนุนอื่นๆ จะจัดอยู่ในสภาพแวดล้อมในชั้นเรียนปกติ ทั้งนี้โรงเรียนต้องมีการปรับเปลี่ยนระบบให้มีความยืดหยุ่นและตอบสนองต่อความต้องการที่หลากหลายของเด็กแต่ละคน และ เด็กทุกคนมีฐานะเป็นสมาชิกหนึ่งของโรงเรียนมีสิทธิ มีความเสมอภาค เท่าเทียมกัน
เป้าหมายของการเรียนรู้แบบเรียนรู้คือ การจัดโอกาสสำหรับนักเรียนทุกคนให้บรรลุขีดศักยภาพในการศึกษาทั่วไป เพื่อให้เด็กสามารถดำรงชีพในสังคมร่วมกันได้อย่างมีความสุขและยอมรับซึ่งกัน และการจัดการศึกษาแบบเรียนรวมเป็น การให้โอกาสเด็กพิการได้เรียนอย่างเคียงบ่าเคียงไหล่กับเด็กทั่วไป ในสภาพห้องเรียนปกติ ซึ่งหากได้รับการช่วยเหลืออย่างถูกวิธีแล้ว เด็กพิการสามารถประสบความสำเร็จได้ การจัดการศึกษาแบบเรียนรวมจึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่ให้โอกาสแก่คนพิการได้พัฒนาศักยภาพทุกด้าน

ที่มา
พระจันทร์รุ่งสาง.  [Online ] http://www.oknation.net/blog/pannida/2012/11/12/entry-10 การจัดการศึกษาแบบเรียนรวมแลจัดการศึกษาแบบเรียนร่วมเข้าถึงเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2558.
ฉวีวรรณ โยคิน.  [Online]  http://61.19.246.216/~nkedu2/?name=webboard&file=read&id=177การศึกษาแบบเรียนรวม. เข้าถึงเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2558.
 https://www.gotoknow.org/posts/548117. [Online]   การศึกษาแบบเรียนรวม.เข้าถึงเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2558.